ข้อบังคับของสมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมชลประทาน ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ฉบับปรับปรุงใหม่ พ.ศ. 2555)
ข้อบังคับทั่วไป

1. สมาคมนี้ ชื่อว่า “สมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมชลประทานในพระบรมราชูปถัมภ์” เรียกชื่อย่อว่า “ศชป” และเขียนเป็นอักษรโรมันว่า IRRIGATION ENGINEERING ALUMNI ASSOCIATION UNDER H.M. THE KING ‘S PATRONAGE ตัวย่อว่า I.E.A.

 2. พญานาคเจ็ดเศียรอยู่ในหยดน้ำ ชื่อสมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมชลประทาน ในพระบรมราชูปถัมภ์ 2 แถว

3. สมาคมนี้มีสำนักงานตั้งอยู่ในบริเวณ กรมชลประทาน อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

  4. สมาคมนี้มีวัตถุประสงค์ดังนี้

4.1 เป็นศูนย์กลางแห่งความสัมพันธ์ของบรรดาสมาชิก
4.2 เพื่อเป็นสวัสดิการสงเคราะห์
4.3 ส่งเสริมการศึกษาและเผยแพร่วิทยาการ
4.4 ส่งเสริมกีฬา การบันเทิงและศิลปะอื่น ๆ
4.5 ส่งเสริมเกียรติแห่งสถานศึกษาและสมาชิกผู้ประกอบคุณงามความดี ทั้งนี้ ไม่เกี่ยวกับการเมืองแต่ประการใด

5. สมาชิกแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

5.1 สมาชิกกิตติมศักดิ์

5.2 สมาชิกสามัญ

5.3 สมาชิกสมทบ

6. สมาชิกกิตติมศักดิ์คือ ผู้ที่คณะกรรมการของสมาคมได้พิจารณาเห็นสมควรเชิญเข้าเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์

7. ให้เลขาธิการสมาคมทำชื่อสมาชิกกิตติมศักดิ์ประกาศให้สมาชิกทราบโดยทั่วกัน

8. บุคคลต่อไปนี้สมัครเข้าเป็นสมาชิกสามัญได้

8.1 ผู้ที่เคยศึกษาแล้วจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือ วิทยาลัยการชลประทาน หรือ สถาบันที่สืบเนื่องมาและไม่เคยประพฤติตนเสื่อมเสียชื่อเสียง

8.2 ผู้ที่เคยเป็นและกำลังเป็นครู อาจารย์ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือ วิทยาลัยการชลประทาน หรือ สถาบันที่สืบเนื่องมาและไม่เคยประพฤติตนเสื่อมเสียชื่อเสียง

 

9. ผู้สมัครเป็นสมาชิกสามัญให้ยื่นใบสมัครแนบท้ายข้อบังคับนี้ต่อเลขาธิการสมาคมโดยมีสมาชิกสามัญรับรองสองคน เมื่อได้รับอนุมัติจากคณะกรรรมการสมาคมและชำระค่าธรรมเนียมเป็นสมาชิกแล้วให้ขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกสามัญได้

10. นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือ วิทยาลัยการชลประทานมีสิทธิสมัครเป็นสมาชิกสมทบ

11. ผู้สมัครเป็นสมาชิกสมทบ ให้ยื่นใบสมัครแนบท้ายข้อบังคับนี้ต่อเลขาธิการสมาคม โดยให้ประธานนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือ ประธานนิสิตวิทยาลัยการ ชลประทานรับรองแล้วแต่กรณี เมื่อได้รับอนุมัติจากคณะกรรรมการสมาคมและชำระค่าธรรมเนียมเป็นสมาชิกแล้วให้ขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกสมทบได้

2. ค่าธรรมเนียมสมัครสมาชิกและค่าบำรุง มีดังนี้

12.1 ค่าธรรมเนียมสมัครเป็นสมาชิกสามัญ คนละ 20 บาท และให้สมาชิกชำระค่าบำรุงตลอดชีพ 200 บาท รวมเป็นเงิน 220 บาท แล้วไม่ต้องเสียค่าบำรุงอีกต่อไป

12.2 ค่าธรรมเนียมสมัครเป็นสมาชิกสมทบ คนละ 10 บาท และไม่ต้องเสียค่าบำรุง

12.3 สมาชิกกิตติมศักดิ์ ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมและค่าบำรุง

13. สมาชิกสามัญและสมาชิกกิตติมศักดิ์ได้รับสิทธิประโยชน์จากสมาคม ดังนี้

13.1 ประดับเครื่องหมายของสมาคมในโอกาสอันควร

13.2 เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับกิจการของสมาคมต่อคณะกรรมการ

13.3 สอบถามกิจการและทรัพย์สินของสมาคมต่อคณะกรรมการ

13.4 มีสิทธิใช้ประโยชน์ในสถานที่ของสมาคมและสโมสรเพื่อการกีฬา บันเทิงและอื่น ๆ และได้รับปฏิบัติโดยเสมอภาค แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ในขอบเขต วัตถุประสงค์ และเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับ

13.5 ประโยชน์อื่นใดที่สมาคมมีมติให้ช่วยเหลือ

14. สมาชิกสมทบได้รับสิทธิประโยชน์จากสมาคม ดังนี้

14.1 เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับกิจการของสมาคมต่อคณะกรรมการ

14.2 มีสิทธิใช้ประโยชน์ในสถานที่ของสมาคมและสโมสรเพื่อการกีฬา บันเทิงและอื่น ๆ และได้รับปฏิบัติโดยเสมอภาค แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ในขอบเขต วัตถุประสงค์ และเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับ

14.3 ประโยชน์อื่นใดที่สมาคมมีมติให้ช่วยเหลือ

 

 

15. สมาชิกขาดจากสมาชิกภาพ เมื่อ

15.1 ตาย

15.2 ลาออก

15.3 ประพฤติตนเสื่อมเสียและคณะกรรมการลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ลาออกจากสมาชิกภาพหรือที่ประชุมใหญ่ลงมติให้คัดชื่อออกโดยคะแนนเสียง 2 ใน 3 ของสมาชิกที่มาประชุม แต่ในการประชุมวินิจฉัยโทษของสมาชิกผู้ใด สมาคมต้องแจ้งให้สมาชิกผู้นั้นทราบเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อให้โอกาสชี้แจงแก้ตัวได้โดยสมาชิกผู้นั้นจะมาหรือไม่มาในการประชุมวินิจฉัยโทษนั้นก็ได้

วิธีการจัดสมาคม

16. ให้สมาชิกสามัญเลือกนายกสมาคมจากสมาชิกสามัญ และนายกสมาคมเลือกกรรมการจากสมาชิกอีกไม่เกิน 20 คน โดยนายกสมาคมเลือกสมาชิกสามัญที่ดำรงตำแหน่งอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และอาจารย์วิทยาลัยการชลประทานแห่งละ 1 คน เป็นคณะกรรมการของสมาคมเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์

17. เมื่อถึงคราวเลือกนายกสมาคมให้สมาชิกสามัญเสนอชื่อผู้มีสิทธิโดยสมาชิกสามัญรับรองอย่างน้อย 2 คน การเลือกนายกสมาคมโดยวิธีออกเสียงลงคะแนนลับ ผู้ใดได้คะแนนสูงสุดผู้นั้นได้เป็นนายกสมาคม ในกรณีมีการเสนอชื่อผู้มีสิทธิเพียงคนเดียวให้ถือว่าผู้นั้นได้เป็นนายกสมาคมโดยไม่ต้องออกเสียงลงคะแนน

18. การแบ่งหน้าที่คณะกรรมการมี ดังนี้

  • นายกสมาคม
  • อุปนายกสมาคม
  • เลขาธิการ
  • เหรัญญิก
  • ปฏิคม
  • นายทะเบียน
  • กรรมการอื่น ๆ อีกไม่มากกว่า 14 คน

9. ให้คณะกรรมการมีอำนาจออกระเบียบบริหารของสมาคมได้โดยไม่ขัดต่อวัตถุประสงค์และข้อบังคับของสมาคมที่ใช้อยู่ในขณะนั้น

20.กรรมการจะตั้งสมาชิกเป็นอนุกรรมการหรือผู้ช่วยกรรมการมีจำนวนตามสมควรก็ได้ อนุกรรมการหรือผู้ช่วยกรรมการมีอายุอยู่ในตำแหน่งได้เพียงกำหนดเวลาของกรรมการผู้ตั้งเท่านั้น

21. คณะกรรมการอยู่ในตำแหน่งได้คราวละ 2 ปี ถ้าตำแหน่งว่างลงเพราะเหตุอื่นนอกจากถึงคราวออกตามวาระ ให้นายกสมาคมเลือกสมาชิกสามัญผู้ใดผู้หนึ่งที่เห็นสมควรเข้าเป็นกรรมการแทนตามจำนวนและตามคราวที่ขาด แต่กรรมการที่เข้ามารับตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งได้เพียงกำหนดเวลาตามวาระของผู้ซึ่งตนแทนเท่านั้น

22. กรรมการขาดจากตำแหน่งโดย

22.1 ถึงคราววาระออก

22.2 ตาย

22.3 ลาออก

22.4 ขาดจากสมาชิกภาพ

นระหว่างที่กรรมการชุดใหม่ยังมิได้เข้ารับตำแหน่งให้กรรมการชุดเดิมบริหารไปพลางก่อนจนกว่าจะมอบหมายหน้าที่กันแล้วเสร็จภายในเวลาอันสมควรแต่ไม่เกิน 45 วัน

23. ในกรณีที่นายกสมาคมขาดจากตำแหน่งตามข้อ 22.2 , 22.3 หรือ 22.4 ให้อุปนายกสมาคมทำหน้าที่นายกสมาคมต่อไปจนครบวาระ

24. ปกติให้มีการประชุมคณะกรรมการปีละอย่างน้อย 3 ครั้ง เพื่อตรวจตราการเงินและดำเนินงานสมาคม องค์ประชุมของคณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งและต้องมีนายกหรืออุปนายกเป็นประธานที่ประชุมด้วยการปรึกษาลงมติใด ๆ ให้ถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานที่ประชุมชี้ขาด

25. อำนาจหน้าที่ของกรรมการแต่ละคน และระเบียบวาระการประชุม ตลอดจนการปรึกษาหารือ กิจการของสมาคม ถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นโดยเฉพาะ ให้อนุโลมตามแบบอยู่ที่ใช้ทั่วไปเป็นหลัก

26. ให้คณะกรรมการมีบัญชีรายรับ-รายจ่าย ทะเบียนสมาชิก และบันทึกการประชุมกิจการของสมาคมตามสมควร

27. ในเมื่อไม่มีมติของคณะกรรมการเป็นอย่างอื่นให้เหรัญญิกรักษาเงินสดอยู่ในเมื่อได้ไม่เกิน 10,000 บาท เงินที่เกินจำนวนนี้ให้ฝากธนาคารในนามสมาคม ในการสั่งจ่ายเงินในธนาคาร ให้นายกหรืออุปนายกหรือเลขาธิการและเหรัญญิกเป็นผู้ลงนามสั่งจ่าย การอนุมัติจ่ายเงินนั้น ให้เลขาธิการและเหรัญญิกมีสิทธิสั่งจ่ายได้ครั้งละไม่เกิน 5,000 บาท นายกหรืออุปนายกสั่งจ่ายได้ครั้งละไม่เกิน 30,000 บาท ถ้าจำเป็นต้องจ่ายเกินกว่านี้ ต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ

การประชุมใหญ่

28. ปกติให้มีการประชุมใหญ่สามัญไม่เกินเดือนมกราคมของทุกปี เพื่อให้คณะกรรมการแถลง กิจการสมาคม เสนอบัญชีงบดุลและเรื่องอื่น ๆ ในกรณีที่คณะกรรมการถึงคราวออกตามวาระก็ให้มีการเลือกตั้งนายกสมาคมและเลือกตั้งผู้สอบบัญชีด้วย ให้เลขาธิการนำคำบอกกล่าวนัดประชุมโดยวิธีแจ้งแก่สมาชิกเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนหน้าวันประชุม ไม่น้อยกว่า 15 วันและจะต้องแจ้งระเบียบวาระที่จะประชุมด้วย

29. เมื่อกรรมการตั้งแต่กึ่งจำนวนขึ้นไป หรือ สมาชิกสามัญตั้งแต่ 30 คนขึ้นไปร้องขอให้คณะกรรมการเรียกประชุมวิสามัญได้โดยวิธีเดียวกับข้อ 28 และจัดให้มีการประชุมภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ

 30. การประชุมใหญ่จะต้องมีสมาชิกสามัญมาร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 30 คนจึงนับเป็นองค์ประชุมได้ ให้นายกหรืออุปนายกสมาคมเป็นประธานในที่ประชุม การลงมติใด ๆ ในที่ประชุมนอกจากได้กล่าวไว้เป็นอย่างอื่นในข้อบังคับนี้ให้ถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานชี้ขาด ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องใดย่อมไม่มีสิทธิออกเสียงในเรื่องนั้น เว้นแต่เรื่องเลือกตั้งกรรมการ

31. ในการที่ต้องใช้มติหรือคะแนนเสียงในการประชุมใด ๆ สมาชิกสามัญเท่านั้นมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน

32. ข้องบังคับนี้จะแก้ไขเพิ่มเติมได้ก็แต่โดยมติที่ประชุมใหญ่ซึ่งมีคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่า 2 ใน 3 ของผู้มีมาประชุม และจะใช้เป็นข้อบังคับได้ต่อเมื่อได้นำไปจดทะเบียนแล้วตามกฎหมาย

การเลิกสมาคม

33. สมาคมนี้จะเลิกได้ก็โดยแต่มติของที่ประชุมใหญ่ซึ่งคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมด

34. การชำระบัญชีของสมาคมให้ปฏิบัติตามกฎหมายที่ใช้ในเวลาเลิกสมาคม

35. บรรดาทรัพย์สินของสมาคมที่เหลืออยู่ในเวลาเลิกสมาคมให้โอนไปยังวิทยาลัยการชลประทานและคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แห่งละครึ่งหนึ่งเท่ากัน ถ้าไม่มีวิทยาลัยการชลประทานให้โอนไปให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อบำรุงการศึกษาต่อไป

 36. สมาชิกย่อมมีความรับผิดชอบเพียงเท่าจำนวนเงินที่ได้ทำหนี้สินไว้ต่อสมาคม

บทเฉพาะกาล

37. ให้คณะกรรมการสมาคมชุดปัจจุบันมีหน้าที่ดำเนินการจดทะเบียนข้อบังคับที่แก้ไขนี้และให้มีสิทธิและอำนาจ ตลอดจนหน้าที่ของคณะกรรมการตามข้อบังคับนี้ต่อไปจนครบวาระ 2 ปีนับแต่วันจดทะเบียนแก้ไขข้อบังคับ