วันที่ 4 เมษายน 2566 เวลา 09.00 น. สนับสนุนโดยสมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมชลประทาน ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดย นายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน และกรรมการกลาง สมาคมศิษย์เก่าฯ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการโครงงานวิศวกรรมชลประทาน ณ วิทยาลัยการชลประทาน กรมชลประทาน อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี

   โดยมีนิสิตวิทยาลัยการชลประทานรุ่น 75 ร่วมนำเสนอผลงานโครงงานวิศวกรรมและคว้ารางวัลทั้งประเภทผลงานโครงงานวิศวกรรมดีเด่น และประเภทการนำเสนอผลงานดีเด่น

   สำหรับการจัดประชุมโครงงานวิศวกรรมชลประทานครั้งนี้ เป็นการจัดประชุมประจำปีการศึกษา 2565 ซึ่งมีการจัดต่อเนื่องมาโดยตลอด แล้วมาเว้นระยะช่วงของการระบาดของโรค COVID – 19 แต่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น ภาควิชาวิศวกรรมชลประทาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงร่วมกับวิทยาลัยการชลประทาน สถาบันสมทบมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เริ่มกลับมาดำเนินการอีกครั้ง ซึ่งกิจกรรมครั้งนี้ จะเน้นนิสิตเป็นสำคัญ โดยการมอบหมายให้นิสิตชั้นปีที่ 4 ซึ่งลงทะเบียนเรียน วิชาโครงงานวิศวกรรมชลประทาน ร่วมกันนำเสนอผลงานจากการจัดทำโครงงานในรูปแบบการจัดประชุมวิชาการ โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้ คือ

  1. เพื่อเป็นการส่งเสริมให้นิสิตสาขาวิศวกรรมชลประทาน และสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง ได้ทำการศึกษา ค้นคว้า รวมทั้งประยุกต์ความรู้ทางวิศวกรรมชลประทาน และสาขาที่เกี่ยวข้องมาจัดทำเป็นโครงงานที่มีคุณภาพและเป็นประโยชน์
  2. เพื่อเป็นการส่งเสริมให้นิสิตมีการพัฒนา ฝึกฝน จนเกิดทักษะด้านการนำเสนอข้อมูลต่อที่สาธารณะ การพิจารณาตอบข้อซักถามจากผู้ร่วมรับฟัง
  3. เพื่อเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ระหว่างนิสิตทั้ง 3 สถาบัน

   ในการจัดประชุมวิชาการเพื่อนำเสนอโครงงานวิศวกรรมชลประทานในปีนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีที่ได้ขยายเครือข่ายฉันท์มิตรทางการศึกษาร่วมส่งนิสิตนักศึกษามาร่วมนำเสนอผลงานด้วย ทำให้มีผลงานที่ได้รับการคัดเลือกเป็นตัวแทนจาก 6 สาขาวิชา รวมทั้งสิ้น 9 โครงงาน ประกอบด้วย

  1. วิทยาลัยการชลประทาน สถาบันสมทบมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำนวน 3 โครงงาน
  2. ภาควิชาวิศวกรรมชลประทาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำนวน 2 โครงงาน
  3. ภาควิชาทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำนวน 1 โครงงาน
  4. ภาควิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จำนวน 1 โครงงาน
  5. ภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จำนวน 1 โครงงาน
  6. ภาควิชาสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จำนวน 1 โครงงาน

   นอกจากนั้นแล้ว การจัดประชุมวิชาการในปีนี้ มีการพิจารณามอบรางวัลให้กับน้องๆ นิสิตนักศึกษา โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทผลงานโครงงานวิศวกรรมดีเด่น และประเภทการนำเสนอผลงานดีเด่น ซึ่งทีมที่ชนะแต่ละประเภทจะได้รับเงินรางวัลและประกาศนียบัตรเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ โดยการสนับสนุนจากสมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมชลประทาน ในพระบรมราชูปถัมภ์

ผลการประกวดประเภทผลงานโครงงานวิศวกรรมดีเด่น:

  1. ระดับดีเลิศ หัวข้อเรื่อง: โครงการศึกษาอุปกรณ์ป้องกันสัตว์น้ำข้ามลุ่มแบบฟองอากาศและคลื่นเสียง ผลงานจากนิสิตวิทยาลัยการชลประทาน
  2. ระดับดีเด่น หัวข้อเรื่อง : การประมาณค่าสัมประสิทธิ์การใช้น้ำของพืช (Kc) เศรษฐกิจข้าว อ้อย และข้าวโพด โดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียมหลายช่วงเวลาจากเว็บไซต์ IrriSAT ผลงานจากนิสิตภาควิชาวิศวกรรมชลประทาน
  3. ระดับดีเด่น หัวข้อเรื่อง : การเปรียบเทียบผลิตภาพของน้ำในการปลูกข้าวโดยระบบวิธีปักดำแบบต้นเดียวและแบบดั้งเดิม ผลงานจากนิสิตภาควิชาวิศวกรรมชลประทาน
  4. ระดับดี หัวข้อเรื่อง : การพยากรณ์พื้นที่การเกิดอุทกภัย อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี ผลงานจากนิสิตภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ
  5. ระดับดี การประยุกต์แบบจำลองสารสนเทศอาคารและโปรแกรม Twinmotion สำหรับตรวจสอบแบบและสร้างแบบเสมือนจริงในงานชลประทานแบบฉีดฝอย ผลงานจากนักศึกษา ภาควิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
  6. ระดับดี หัวข้อเรื่อง : การพัฒนาวิธีการลำดับความสำคัญของพื้นที่สำหรับปฏิบัติการฝนหลวง ผลงานจากนักศึกษาภาควิชาสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ผลการประกวดประเภทการนำเสนอผลงานดีเด่น

  1. อันดับ 1 หัวข้อเรื่อง: โครงการศึกษาอุปกรณ์ป้องกันสัตว์น้ำข้ามลุ่มแบบฟองอากาศและคลื่นเสียง ผลงานจากนิสิตวิทยาลัยการชลประทาน
  2. อันดับ 2 หัวข้อเรื่อง : การศึกษาการเลือกออกแบบอาคารระบายน้ำล้นเบื้องต้นที่เหมาะสม กรณีศึกษาอ่างเก็บน้ำห้วยแม่เคียน อำเภองาว จังหวัดลำปาง ผลงานจากนิสิตวิทยาลัยการชลประทาน
  3. อันดับ 3 หัวข้อเรื่อง : การศึกษาความสามารถของเข็มคอนกรีตอัดแรงสำหรับโครงสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ผลงานจากนิสิตวิทยาลัยการชลประทาน
  4. อันดับ 3 หัวข้อเรื่อง : การประยุกต์แบบจำลองสารสนเทศอาคารและโปรแกรม Twinmotion สำหรับตรวจสอบแบบและสร้างแบบเสมือนจริงในงานชลประทานแบบฉีดฝอย ผลงานจากนักศึกษา ภาควิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
  5. ชมเชย หัวข้อเรื่อง : การประมาณความต้องการใช้น้ำนอกภาคเกษตรกรรมในพื้นที่ลุ่มน้ำมูลตอนบน ภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล